บริการงานกงสุล

บริการงานกงสุล

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ต.ค. 2567

| 5,603 view

การแจ้งเกิดตามกฎหมายไทย

บุคคลสัญชาติไทยที่มีบุตรเกิดในประเทศเยอรมนี สามารถแจ้งเกิดบุตรที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอสูติบัตรไทย (ใบเกิดไทย) ให้บุตรได้ และหากว่าบุตรของท่านเป็นเด็กสัญชาติลูกครึ่งไทยและสัญชาติเยอรมันหรือสัญชาติอื่นๆ บุตรของท่านสามารถถือสัญชาติไทยควบกับสัญชาติของบิดาหรือมารดาต่างด้าวได้ 

ท่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับสัญชาติเพิ่มเติมได้ที่


การแจ้งเกิดที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ด้วยตัวเอง
(สถานกงสุลใหญ่ฯ จะรับคำร้องสำหรับผู้ที่มีถิ่นพำนักในรัฐเฮสเซิน รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน รัฐไรน์ลันด์-พฟัลซ์ รัฐซาร์ลันด์ และรัฐทือริงเงิน)

การยื่นคำร้องขอแจ้งเกิดบุตรจะต้องมายื่นด้วยตนเองเท่านั้น

รายการเอกสารที่ต้องยื่นประกอบคำร้องขอแจ้งเกิด (แบบฟอร์มสำหรับกรอกเป็นภาษาไทย)

ผู้ยื่นคำร้องจะต้องกรอกแบบฟอร์มพร้อมส่งเอกสารดังนี้มาทางไปรษณีย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบล่วงหน้าก่อนการนัดหมายจากสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อมายื่นคำร้องด้วยตัวเองต่อไป

  1. สำเนาสูติบัตรเยอรมันของบุตรที่รับรองจากทางการเยอรมันแล้วโดยไม่จำเป็นต้องต้องแปลเป็นภาษาไทย (เช่น Regierungspräsidium หรือ Bezirksregierung) 1 ชุด (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารที่ “หน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน”
  2. สำเนาเอกสารที่ระบุ ชี่อโรงพยาบาล, เวลาเกิด และ น้ำหนักแรกเกิดของบุตร

  3. เอกสารตามกรณีต่าง ๆ
    3.1 กรณีบิดามารดาสมรสกัน และบุตรเกิดหลังการสมรส
    สำเนาทะเบียนสมรสเยอรมันหรือทะเบียนสมรสนานาชาติ (แบบหลายภาษา) ของบิดาและมารดา พร้อมคำแปลภาษาไทย (กรณีบิดามารดาสมรสตามกฎหมายเยอรมัน) ที่รับรองจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตแล้ว

    หรือ สำเนาทะเบียนสมรสไทย (กรณีบิดามารดาสมรสตามกฎหมายไทย ที่อำเภอไทย)

    3.2
    กรณีบิดามารดาหย่าร้างกัน
    1) สำเนาทะเบียนสมรสเยอรมันหรือทะเบียนสมรสนานาชาติ พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่รับรองจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตแล้ว/  หรือ สำเนาทะเบียนสมรสไทย
    2) สำเนาคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้ว ที่ระบุว่าหลังการหย่า ใครเป็นผู้ปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ที่รับรองจากศาลสูงแล้ว แปลเป็นภาษาไทย และรับรองจาก สถานกงสุลใหญ่ฯ แล้ว

    3.3 รณีบิดามารดาไม่ได้สมรสกัน หรือ บุตรเกิดก่อนการสมรส (เฉพาะกรณีมารดามีสัญชาติไทย)
    1) สำเนาหนังสือรับรองความเป็นบิดา ที่รับรองจาก Regierungspräsidium แล้ว พร้อมคำแปลภาษาไทย 1 ชุดซึ่งเอกสารทั้ง 2 ภาษาต้องรับรองจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ก่อนนำมาใช้ยื่นประกอบคำร้อง (นำตัวจริงไปรับรองแล้วถ่ายเอกสารมาเพื่อใช้ยื่นคำร้อง)
    2) สำเนาหนังสือรับรองสิทธิปกครองบุตร  (ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 เดือน) ที่รับรองจาก Regierungspräsidium แล้ว พร้อมคำแปลภาษาไทย 1 ชุด
    ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ภาษา ได้รับรองจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ก่อนนำมาใช้ยื่นประกอบคำร้อง (นำตัวจริงไปรับรองแล้วถ่ายเอกสารมาเพื่อใช้ยื่นคำร้อง)

    3.4 กรณีมารดาเป็นชาวต่างชาติ บิดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย และไม่ได้สมรสกัน
    บิดาต้องยื่นคำร้องขอพิสูจน์ความเป็นบิดาก่อน จึงจะนำมาประกอบการขอสูติบัตรไทยให้บุตรได้ (โดยยื่นหลักฐานการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จาก สถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI พร้อมด้วย)

  4. สำเนาสูติบัตรไทยของบุตรคนโต (บิดามารดาเดียวกัน) ที่แจ้งเกิดแล้ว 1 ฉบับ
  5. สำเนาหนังสือเดินทางไทย บัตรประจำตัวประชาชนไทย และสำเนาทะเบียนบ้านไทยของมารดา อย่างละ 1 ชุด
  6. สำเนาหนังสือเดินทางไทย บัตรประจำตัวประชาชนไทย และสำเนาทะเบียนบ้านไทยของบิดา อย่างละ 1 ชุด (กรณีบิดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย) หรือ สำเนาหนังสือเดินทางเยอรมัน/ ต่างชาติ ที่มีอายุใช้งานอยู่ของบิดา 1 ชุด  (กรณีบิดาเป็น ชาวเยอรมัน/ ชาวต่างชาติอื่น ๆ)
  7. สำเนาใบแสดงถิ่นพำนักในเยอรมนี (Meldebestätigung) ของบิดาและมารดา 1 ชุด
  8. ซองขนาด A4 เขียนที่อยู่ถึงตัวเองและติดแสตมป์ 4.25 ยูโร เพื่อส่งสูติบัตรและเอกสารกลับคืนให้
  9. ค่าธรรมเนียมรับรองสำเนาถูกต้องสูติบัตรไทยฉบับละ 15 ยูโร (เป็นเงินสดเท่านั้น)

    *เจ้าหน้าที่ฯ อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ แล้วแต่กรณี

การแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทย

การแจ้งชื่อบุตรของท่านเข้าทะเบียนบ้านไทย ทำได้ดังนี้

  1. นำใบเกิดไทยของบุตร (สูติบัตรไทย) ตัวจริง หนังสือเดินทางไทยหรือหนังสือเดินทางเยอรมันของบุตรไปแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านที่อำเภอที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน
  2. ขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านไทยของบุตร เพื่อนำมาใช้ที่ประเทศเยอรมนีด้วย
  3. นายทะเบียนอำเภอของแต่ละจังหวัดอาจจะเรียกเอกสารอื่นเพิ่มเติมได้

การขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-พาสปอร์ต) ให้บุตร

หลังจากที่ท่านไปแจ้งชื่อบุตรของท่านเข้าทะเบียนบ้านไทยเรัยบร้อยแล้ว โดยมีสำเนาทะเบียนบ้านไทยของบุตรเป็นหลักฐาน ท่านสามารถยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางให้บุตรของท่านได้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์