บริการงานกงสุล

บริการงานกงสุล

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ต.ค. 2566

| 701 view

การขอสละสัญชาติไทย

 

ข้อมูลในการยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทย

ผู้ที่จะยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยได้ คือ คนสัญชาติไทยที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมันสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับมอบ “หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมัน (Einbürgerungsurkunde) จากหน่วยงานราชการเยอรมัน

หากท่านได้แต่เพียง “หนังสือรับรองว่าจะได้รับการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมัน” (Zusicherungsbescheinigung) ท่านยังไม่สามารถมายื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยได้ ท่านต้องรอจนกว่าจะได้รับการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมันโดยสมบูรณ์ก่อน หลังจากนั้นจึงนำใบสำคัญการแปลงสัญชาติมายื่นประกอบคำร้องขอสละสัญชาติไทยได้

การสละสัญชาติเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตของท่านเป็นสำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ของท่าน เมื่อท่านเสียสัญชาติไทย ท่านย่อมสูญสิ้นและหมดสิทธิและหน้าที่ต่อประเทศไทย ในขณะเดียวกันท่านจักต้องเคารพและปฏิบัติต่อกฎหมายของประเทศเยอรมนีที่ท่านถือสัญชาติ

ก่อนที่ท่านจะได้รับนัดหมายให้เดินทางมาสถานกงสุลใหญ่ ฯ ท่านต้องส่งคำร้องขอสละสัญชาติไทยมาก่อน โดยคำร้องประกอบด้วยเอกสารไปนี้

1.1 แบบ สช. 1 (แบบที่ 1) หรือ แบบ สช. 2 (แบบที่ 2)
1.2 แบบกรอกประวัติผู้ร้องขอสละสัญชาติไทย
1.3 บันทึกการสอบสวนการขอสละสัญชาติไทย
1.4 บันทึกสอบสวนพยาน

ขอให้ท่านกรอกข้อความที่เกี่ยวกับตัวท่านในเอกสาร 1.1-1.3 ให้ชัดเจน ส่วนเอกสาร 1.4 (บันทึกสอบสวนพยาน) ให้พยานคนไทยที่ยืนยันได้ว่าท่านเกิดที่เมืองไทยจริงและรู้จักสถานที่เกิดของท่านกรอกข้อความให้ชัดเจน (ในวันนัดหมายพยานต้องมาพร้อมกับท่าน)

เอกสารประกอบที่ท่านต้องยื่นพร้อมกับเอกสารคำร้องข้างต้น ดังนี้

การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 1

การขอสละสัญชาติไทยของหญิงสัญชาติไทยที่ขอโอนสัญชาติตามสามีชาวเยอรมัน (ในกรณีนี้ท่านสามารถขอกลับคืนสัญชาติไทยได้) หากท่านยังไม่ได้เปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรส ท่านต้องดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรส ก่อนที่จะมายื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทย

  • ทะเบียนสมรสที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลจำนวน 2 ชุด
  • หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลจำนวน 2 ชุด
    (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ "รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน")
  • สำเนาหนังสือเดินทางไทย 2 ชุด
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 2 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ชุด
  • สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) 2 ชุด
  • รูปถ่ายสีปัจจุบันของท่าน 12 รูป
  • รูปถ่ายสีของบิดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • รูปถ่ายสีของมารดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • รูปถ่ายสีของสามีชาวเยอรมัน 6 รูป
  • หนังสือเดินทางสามีชาวเยอรมันพร้อมคำแปล 1 ชุด
  • ซองเปล่าติดแสตมป์ 4.25 ยูโร
  • หลักฐานประจำตัวของพยานคนไทย คือ สำเนาหนังสือเดินทางไทย 1 ชุด/สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด

การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 2

การขอสละสัญชาติไทยของผู้ที่ได้สัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย (มาตรา 14) หรือเพราะการแปลงสัญชาติ (มาตรา 15) และผู้มีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น (มาตรา 15) (ในกรณีนี้ท่านไม่สามารถขอกลับคืนสัญชาติไทยได้)

  • หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลจำนวน 2 ชุด
    (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ "รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน")
  • สำเนาหนังสือเดินทางไทย 2 ชุด
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 2 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ชุด
  • สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) 2 ชุด
  • รูปถ่ายสีปัจจุบันของท่าน 12 รูป
  • รูปถ่ายสีของบิดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • รูปถ่ายสีของมารดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • ซองเปล่าติดแสตมป์ 4.25 ยูโร
  • หลักฐานประจำตัวของพยานคนไทย คือ สำเนาหนังสือเดินทางไทย 1 ชุด/สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด